Countess Elizabeth Báthory

เคาน์เตสบาโธรีแห่งฮังการี (ชื่อในภาษาต้นฉบับคือ Báthory Erzsébet) เป็นหนึ่งในฆาตกรต่อเนื่องที่มีเรื่องราวแพรวพรายและเล่าสืบทอดกันมายาวนาน อาจจะเป็นเพราะในบรรดาฆาตกรต่อเนื่องส่วนใหญ่มักจะเป็นเพศชาย หรืออาจจะเป็นเพราะเธอดำรงตำแหน่งฐานะสูง หรืออาจจะเพราะจำนวนเหยื่อของเธอที่มากกว่า ๘๐ คน หรืออาจจะเพราะทุกข้อรวมกัน!
เคาเตสส์อิลิซาเบธ บาโธรี มีภาพวาดเหมือนตัวเองเมื่อปีค.ศ. ๑๕๘๕ (อายุประมาณ ๒๕) แต่น่าเสียดายที่ภาพต้นฉบับสูญหายไปเมื่อทศวรรษ ๑๙๙๐

เป็นเรื่องที่น่าสงสัยมิใช่น้อยว่าทำไมหญิงสาวหนึ่งคนจึงฆ่าคนต่อเนื่องมากมายขนาดนั้น

ปีค.ศ. ๑๖๑๐ กษัตริย์แมตเธียสที่ ๒ แห่งฮังการี่ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปยังปราสาทเชเต เพื่อสืบสวนหาสาเหตุการหายตัวของหญิงสาวจำนวนมาก

และผู้ต้องสงสัยไม่ใช่คนธรรมดา เพราะฐานันดรเป็นถึงเคาน์เตส ผู้เป็นภรรยาม่ายของวีรบุรุษสงคราม เครือญาติของเธอล้วนแล้วแต่เป็นขุนพล พระระดับสูง ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ลุงของเธอคือกษัตริย์สเตฟาน บาโธรีแห่งโปแลนด์ หากบุ่มบ่ามทำอะไรไป แล้วกลายเป็นว่ามีคนใส่ร้ายเธอ ผู้เกี่ยวข้องคงจะลำบาก แต่ถ้าเป็นความจริงก็ต้องรีบระงับเหตุก่อนจะมีอะไรร้ายแรงยิ่งไปกว่านั้น

เธอชื่อ เคาน์เตส  อลิซาเบธ บาโธรี

ผู้ที่มาสอบสวนมีจอร์จี เธอโซ ขุนนางระดับสูงแห่งราชสำนัก ไอแวน แม็กยารี นักบวชผู้นำเรื่องของเธอไปแจ้งทางการ และยังมีระดับผู้ว่าการรัฐอีกสองคน รวมกับทหารอีกจำนวนหนึ่ง ตัดสินใจที่จะสืบสวนเหตุการณ์ในทางลับ (ส่วนหนึ่งเพราะข่าวว่าท่านเคาน์เตสศึกษาศาสตร์เร้นลับจึงเกรงจะเกิดอันตราย) และแอบเข้าไปในปราสาทของเคาน์เตสบาโธรี

เป้าหมายของพวกเขาคือเข้าไปคุกใต้ดินในปราสาท  แต่เพียงแค่เข้าไปในปราสาทสิ่งที่พวกเขาค้นพบก็คือร่างของหญิงสาวที่ขาวซีดนอนอยู่บนพื้น เมื่อเข้าไปตรวจดูก็พบว่าร่างนั้นปราศจากชีวิตแล้ว ไม่ไกลจากนั้นพบหญิงสาวที่โดนทิ่มแทงทั่วร่างแต่ยังมีลมหายใจ ผิวขาวซีดเนื่องจากเสียเลือด และเมื่อลงลึกไปอีก สิ่งที่ได้พบยิ่งน่าสะพรึง มีศพหญิงสาวโดนมัดติดอยู่กับเสามีรอยโดนแทงโดนเผา และเสียเลือด ทำให้อนุมานได้ว่าหญิงสาวเหล่านี้เกี่ยวเนื่องกับอะไรสักอย่างที่ต้องใช้เลือด อย่างเช่นการบูชาปิศาจ

เมื่อพวกเขาลงไปถึงคุกใต้ดิน ก็ได้พบกับหญิงสาวและเด็กโดนขังอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะอ่อนแรงจากการเสียเลือด และมีบาดแผลจากการทรมาน พวกเขาจึงปลดปล่อยบรรดาผู้ถูกคุมขัง และเมื่อมีหลักฐานแน่นหนาขนาดนี้แล้ว จึงตัดสินใจที่จะบุกจับตัวเจ้าของปราสาทก่อนที่จะไหวตัวทัน

และเมื่อเข้าไปถึงห้องชั้นบนสุด พวกเขาก็ได้พบหลักฐานอีกหลายชิ้น เจ้าของปราสาทหลบหนีไป แต่พวกเขาก็ตามเธอจนพบ

ความโหดร้ายของอิลิซาเบธ บาโธรี

อิลิซาเบธ บาโธรี เกิดที่ฮังการี่ วันที่ ๗ สิงหาคม ค.ศ. ๑๕๖๐ ในครอบครัวที่ดี ตระกูลของเธอทั้งฝ่ายพ่อและแม่ล้วนเกี่ยวดองกับบรรดาแม่ทัพ ขุนพลแห่งทรานซิลเวเนีย โดยเฉพาะสเตฟาน บาโธรี กษัตริย์แห่งโปแลนด์และดุ๊กแห่งทรานซิลเวเนีย

แต่ตามประวัติที่บันทึกในภายหลัง เธอเป็นเด็กเอาแต่ใจ ตามประสาลูกสาวของผู้ทรงอิทธิพล มีสุขภาพไม่แข็งแรง ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ และทวีความก้าวร้าวมากขึ้นทุกที น้าสาวของอิลิซาเบธ บาโธรีมีชื่อเสียงเลื่องลือในฐานะแม่มด และมีข่าวลือว่าชอบผู้หญิงด้วยกัน ลุงของเธอเป็นนักเล่นแร่แปรธาตุที่นับถือปิศาจ น้องชายของเธอมีพฤติกรรมเลวร้ายต่อสตรีไม่เลือกวัย และนางพยาบาลผู้ใกล้ชิดเธอก็เป็นพวกนิยมมนต์ดำ ดังนั้นเธอจึงเติบโตมาท่ามกลางหนทางแห่งมนต์ดำ นอกจากนี้ยังปรากฏว่าเธอตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุ ๑๔ ปี กับชาวไร่ใกล้ปราสาท และทำให้ครอบครัวตัดสินใจที่จะกักบริเวณเธอไว้ และเพื่อไม่ให้มีข่าวเสื่อมเสียก็จับเธอแต่งงาน

เธอโดนจับแต่งงานด้วยเหตุผลทางการเมืองตอนอายุเพียง ๑๕ ปี กับ เฟอเรนซ์ นานัสดี ในวันที่ ๘ พฤษภาคมค.ศ. ๑๕๗๕ ว่ากันว่ามีแขกมาร่วมเป็นสักขีพยานถึง ๔,๕๐๐ คน เฟอเรนซ์ นานัสดี เป็นทหาร และเธอก็ได้ย้ายมาอยู่ในปราสาทนานัสดีในซาร์วาร์ และหลังจากนั้นเพียง ๓ ปี เฟอร์เรนซ์ นานัสดีได้เป็นผู้บัญชาการทหารฮังการี ต้องออกนำทัพสู้รบกับจักรวรรดิ์ออตโตมัน ทิ้งภาระในการดูแลทรัพย์สินไว้กับอิลิซาเบธ ซึ่งซาร์วาร์ในขณะนั้นกำลังอยู่ในภาวะวุ่นวายเนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากเขตแดนในการครอบครองของออตโตมันนัก ทำให้โดนโจมตีปล้นสะดมหลายครั้ง ทำให้ ณ ที่แห่งนี้ เธอสามารถกระทำการทุกอย่างโดยไม่กริ่งเกรงว่าจะมีเรื่องเข้าหูขุนนางระดับสูง

เล่ากันว่าเธอเป็นคนหลงใหลความสวยงามของตัวเอง  เธอจะใช้เวลาเป็นชั่วโมงอยู่หน้ากระจกเงาเพื่อชื่นชมความงามของตัวเอง บำรุงผิวด้วยน้ำมัน และขี้ผึ้งนานาชนิดเพื่อให้ผิวขาวนวล เปลี่ยนเสื้อผ้าวันละ ๕ หรือ ๖ ชุด

ณ เวลานั้นคนรอบปราสาทนานัสดีไม่มีใครกล้าขัดคำสั่งเธอ แม้แต่เฟอเรนซ์ นานัสดี สามีของเธอจะรู้เห็นเป็นใจด้วย เขาได้นำวิธีทรมานนักโทษมาใช้กับข้าทาสที่แข็งข้อ (บ้างก็ว่าบางครั้งเขาลงโทษภรรยาของเขาเองด้วย) หนึ่งในเรื่องเล่าลือเกี่ยวกับวิธีทรมานของเขาคือ จับคนรับใช้สาวมัดทั้งที่เปลือยกาย ราดรดด้วยน้ำผึ้งแล้วนำไปทิ้งไว้ในสวนภายนอกปล่อยให้ผึ้งและแมลงทั้งหลายจัดการต่อ และในฤดูหนาวที่แสนยะเยือก เขาจับคนรับใช้สาวมาเปลือยกายและราดน้ำจนชุ่มโชกจนกระทั่งสาวใช้คนนั้นชาไปทั้งตัว ไม่สามารถขยับร่างกายได้ และเขาเป็นคนสอนวิธีทุบตีนักโทษให้กับอิลิซาเบธ บาโธรีด้วย

เมื่อสามีไปออกรบ อิลิซาเบธจะหาคู่รักลับ ๆ ทั้งหญิงและชาย และมีกลุ่มที่ปรึกษาที่เป็นนักเล่นแร่แปรธาตุหรือมีความเกี่ยวพันกับมนต์ดำ ซึ่งมีเสียงเล่าลือว่าหนึ่งในที่ปรึกษาของเธอเป็นคนผิวขาวซีด ผมยาวสีดำ และดื่มเลือด (แต่บางแหล่งบอกว่าคนที่ดื่มเลือดเป็นหญิงสาวที่แต่งกายเป็นชาย)

หลังจากบาดเจ็บหนักจากสงคราม เฟอเรนซ์กลับมาในปีค.ศ. ๑๖๐๑ ในสภาพบาดเจ็บหนัก ต้องใช้ชีวิตอยู่บนเตียงเป็นส่วนใหญ่ และเสียชีวิตในปี ค.ศ. ๑๖๐๔ (ภายหลังมีเสียงเล่าลือว่าอิลิซาเบธวางยาสามีของเธอเอง) หลังจากนั้นอิลิซาเบธใช้เวลาส่วนใหญ่เดินทางไปมาระหว่างเวียนนา กับ ฮังการี่ และเมื่อใดที่เธอกลับมาที่ฮังการี่หญิงสาววัยเยาว์รวมถึงเด็กมักจะหายไปจากหมู่บ้านทั้งใกลและใกล้ ถึงพวกชาวบ้านจะไม่กล้าพูดออกมาดัง ๆ ในที่สาธารณะ แต่ก็มีการซุบซิบ โดยเฉพาะเรื่องรถม้าจากปราสาทของนานัสดี้ที่วิ่งไปมาในเวลาค่ำคืน และในคืนนั้นจะมีหญิงสาวหายไป จนมีคนทนไม่ได้และนำเรื่องไปปรึกษานักบวชนิกายลูเธอแรนที่ชื่อไอแวน แม็กยารีซึ่งนักบวชผู้นั้นก็นำเรื่องไปปรึกษาทางการอย่างลับ ๆ รวบรวมหลักฐานและนำเรื่องแจ้งกษัตริย์ แมตเธียสที่ ๒ ซึ่งได้มอบหมายให้ จอร์จี เธอโซ เป็นตัวแทนราชสำนักฮังการีเข้ามาสืบสวน

บางที เรื่องอาจจะเงียบไม่ลุกลามใหญ่โตหากเธอหยุดยั้งที่ชาวบ้านธรรมดา แต่เคาน์เตสอิลิซาเบธ บาโธรี เริ่มลักพาตัวลูกสาวของขุนนางระดับล่าง ความหยิ่งยโสว่าไม่มีใครกล้าแตะต้องเธอ ทำให้เธอเหิมเกริมจนทำอะไรไม่ยั้งคิด เพราะช่วงจับได้ตอนแรก จอร์จี เธอโซพยายามช่วยเหลืออิลิซาเบธเพราะความสัมพันธ์ฉันท์เครือญาติและอาจจะมีเหตุผลอื่น เขาเพียงให้เธออยู่ในปราสาทและแจ้งว่าพบศพหญิงสาวเพียงศพเดียวโดนเผาเนื่องจากขโมยของ และไม่พบหลักฐานเรื่องการสมสู่แบบไม่เลือกหน้าของเธอ และเขาคิดประนีประนอมโดยขอให้อิลิซาเบธเข้าไปอยู่ในสำนักชีและห้ามออกจากสำนักชีตลอดชีวิต แต่ภายหลังปรากฏว่าในบรรดาเหยื่อของเธอมีคนในแวดวงขุนนางรวมอยู่ด้วย

พอล บุตรของอิลิซาเบธ บาโธรีได้ปรึกษาหารือกับจอร์จี เธอโซในข้อที่ว่าการไต่สวนและพิพากษาอิลิซาเบธ บาโธรีจะทำให้เกิดความอื้อฉาวไปถึงขุนนางและราชวงศ์ซึ่งครองทรานซิลเวเนีย อาจจะทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด รวมไปถึงทรัพย์สมบัติมหาศาลของตระกูลที่จะต้องจัดการให้เรียบร้อย

จอร์จี เธอโซนำอิลิซาเบธมากักบริเวณที่ Csejte ปราสาทเดิมของเธอในวันที่ ๓๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๖๑๐ โดยจองจำเธอและข้ารับใช้อีก ๔ คนเอาไว้ด้วยกัน ในตอนนั้นกษัตริย์แมตเธียสที่ ๒ ได้รับแรงกดดันให้ประหารเธอ แต่จอร์จี เธอโซแนะนำว่ามันจะเสื่อมเสียต่อราชวงศ์

การพิพากษา

อย่างไรก็ตามได้มีการตั้งศาลพิจารณาคดีในวันที่ ๗ มกราคม ค.ศ. ๑๖๑๑ โดย ธีดอซีอุส ซิมเมียนซีฟ ผู้พิพากษาสูงสุดมาทำหน้าที่ โดยมีผู้พิพากษาสมทบอีก ๒๐ คน สืบสวนเรื่องราวจากเหยื่อผู้รอดชีวิตและและคนอื่น

ฟิซโก ผู้รับใช้อิลิซาเบธถึง ๑๖ ปี ให้การว่าเขาไม่รู้ว่ามีเหยื่อของเจ้านายเขากี่คน แต่เขาจำได้ราว ๓๗ คน โดยเหยื่อได้รับการหลอกล่อให้มาทำงานในปราสาท และมีบางคนที่รับเงินจากเจ้านายของเขาเพื่อให้จัดหาหญิงสาวมาให้ หญิงสาวเคราะห์ร้ายเหล่านั้นจะโดนตีจนสลบ หลายรายถูกตีจนเขียวช้ำไปทั้งตัวจนเสียชีวิต ดอโก ผู้รับใช้อีกคนจะตัดนิ้วและใช้กรรไกรตัดผ่านเส้นเลือดเพื่อนำเลือดออกมา

ไอโลนา จู พยาบาลส่วนตัวของอิลิซาเบธยอมรับสารภาพว่าเธอฆ่าคนราว ๕๐ คน โดยใช้เหล็กเผาไฟจนร้อนแทงเข้าไปในปาก หรือจมูกของเหยื่อโดยเจ้านายของเธอจะตัดนิ้วและเลาะหนังออกจากตัว

ไม่กล้าเขียนบรรยายรายละเอียดมากนัก เนื่องจากรู้สึกสยองกับกรรมวิธีเพื่อจะให้ได้เลือดมา

การสอบสวนครั้งนั้นสรุปได้ว่า หญิงสาวที่โดนลักพาตัวจะโดนนำไปล่ามไปกับกำแพงในคุกใต้ดิน ได้รับการเลี้ยงอย่างดีเพื่อให้อ้วน ตามความเชื่อของเคาน์เตสอิลิซาเบธ บาโธรีว่าจะทำให้มีเลือดเพิ่มมากขึ้น และเลือดจะใช้ในพิธีทางมนต์ดำในคืนพระจันทร์เต็มดวง เหยื่อจะโดนบังคับให้มีเพศสัมพันธ์แบบผิดธรรมชาติกับเธอ ถ้าใครขัดขืนจะโดนทรมานถึงตาย แต่ถึงใครจะยินยอมก็ตาม เมื่อเธอเบื่อขึ้นมา ใครคนนั้นก็จะถึงฆาตอยู่ดี ขึ้นอยู่กับอารมณ์อันแปรปรวนของอิลิซาเบธผู้มีความคิดแปลกประหลาดมากมาย บางคนโดนบังคับให้ทิ่มแทงตัวเอง บางคนโดนผลักให้เข้าไปอยู่ในห้องที่เต็มไปด้วยหนามแหลม เหยื่อผู้รอดชีวิต เล่าว่าโดนแทง บิด ทุบตี และเผาโดยนายหญิงแห่งปราสาท บางคนโดนทำให้เสียโฉม

ถึงแม้ว่าจะมีการนำบันทึกของเคาต์เตส อิลิซาเบธ บาโธรีมาตรวจสอบพบรายชื่อและรายละเอียดของหญิงสาวจำนวน ๖๕๐ ราย ซึ่งพิสูจน์ไม่ได้ว่ารายชื่อเหล่านั้นเป็นรายชื่อเหยื่อหรือว่าอะไร ทำให้คณะผู้พิพากษาตัดสินเหยื่อจากโครงกระดูกที่พบและคำบอกเล่าจากผู้รอดชีวิต ทำให้มีการตัดสินว่า เหยื่อของเคาน์เตสอิลิซาเบธ บาโธรีมีจำนวน ๘๐ ราย

รายละเอียดในการค้นพบในวันนั้น น่าสะพรึงเกินกว่าจะเขียน...

การลงโทษครั้งนั้นเหล่าผู้รับใช้ล้วนชดใช้กรรมด้วยชีวิต แต่สำหรับอิลิซาเบธ บาโธรีผู้มีญาติใหญ่โต จึงได้รับการยกเว้นโทษประหาร โดนลงโทษโดยขังไว้ในปราสาท ก่ออิฐปิดหน้าต่างและประตูไว้ มีเพียงช่องเล็กๆ ให้อากาศเข้า และช่องทางส่งอาหาร

หลังจากอยู่ในนั้น ๓ ปีครึ่ง เธอก็เสียชีวิต

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ตราประทับโซโลมอน (Seal of Solomon)

พันธสัญญาของโซโลมอน (Testament of Solomon)

เงือกฟิจิ (Fiji Mermaid)