เงือกฟิจิ (Fiji Mermaid)

เดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๔๒ มีข่าวที่แพร่สะพัดในหมู่สื่อมวลชนว่า ด็อกเตอร์ เจ กริฟฟิน สมาชิกสถาบันศึกษาประวัติศาสตร์ธรรมชาติเกาะอังกฤษ (British Lyceum of Natural History) ซึ่งกำลังเดินทางมานิวยอร์ก ครอบครองซากสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ซึ่งน่าจะเป็นเงือกตามเรื่องเล่าโบราณ จับได้ในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ใกล้เกาะฟิจิ ดังนั้นเมื่อเขาเดินทางมาถึงโรงแรมที่พักในนิวยอร์ก จึงได้พบกับนักข่าวจำนวนมากรอทำข่าวอยู่ ซึ่งดูเหมือนเขาจะไม่เต็มใจและหวงแหนเกินกว่าจะนำซากสิ่งนั้นออกมาให้นักข่าวดู

พี บี บาร์นัม ติดต่อหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ฉบับหนึ่ง บอกว่าเขาเคยขอให้ด็อกเตอร์ เจ กริฟฟิน นำซากเงือกมาวางแสดงในพิพิธภัณฑ์ของเขา แต่ด็อกเตอร์ เจ กริฟฟินไม่ยินยอมให้ของจริง แต่ยอมให้จำลองไม้แกะสลักเหมือนตัวจริงเอาไว้ และเขาอยากจะมอบให้หนังสือพิมพ์ฉบับนั้น

อานิสสงฆ์จากความใจดีของ พี บี บาร์นัม ที่มอบไม้แกะสลักรูปเงือกให้หนังสือพิมพ์ ทำให้เขาขายหนังสือเกี่ยวกับเงือกของเขาไปได้หลักหมื่นเล่มในเวลาอันรวดเร็ว!! ชาวนิวยอร์กตื่นตัวกับการค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์นี้ถ้วนหน้า มีทั้งคนที่บอกไม่เชื่อ และคนที่ยืนยันว่าเคยเห็นเจ้าสิ่งนี้ขณะยังมีชีวิตมาแล้ว

เงือกแห่งฟิจิ กลายเป็นเรื่องใหญ่ในเดือนนั้น และซากในการครอบครองของด็อกเตอร์ เจ กริฟฟิน ได้นำไปแสดงให้คนดูในคอนเสิร์ตฮอลที่บอร์ดเวย์ ผู้คนหลั่งไหลกันมาชมซากเงือกแห่งฟิจิ มีหลายคนตั้งทฤษฎีที่แปลกประหลาดเกี่ยวกับซากนี้ ตั้งแต่ว่ามันคงเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีสติปัญญา หลังจากแสดงใน คอนเสิร์ตฮอลได้หนึ่งสัปดาห์ ด็อกเตอร์เจ กริฟฟินก็อนุญาตให้นำไปแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ของพี บี บาร์นัม

และพิพิธภัณฑ์ของพี บี บาร์นัมก็ฉวยโอกาสขึ้นราคาค่าเข้าชม...

ซากเงือกที่ดูเหมือนครึ่งลิงครึ่งปลาตัวนี้ ทำให้จินตนาการสวยงามของนางเงือกสาวสวยที่ช่วงบนเป็นสตรีวัยเยาว์ช่วงล่างเป็นปลาที่เคยครองใจนักเล่านิทานมานานต้องแตกสลาย

หลังจากประสบความสำเร็จในการแสดงซากเงือกแห่งฟิจิในพิพิธภัณฑ์ของเขาที่นิวยอร์ก เขาก็ส่งไปแสดงยังรัฐทางใต้ แต่เนื่องจากเขาติดภารกิจมากมาย จึงได้ส่ง อแลนสัน เทย์เลอร์ ลุงเขาไปควบคุมไปแทน แต่เหตุการณ์ที่เซาธ์แคโรไรนากลับไม่เรียบร้อยอย่างที่คาด เพราะหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ ๒ ฉบับเกิดมีความเห็นไม่ลงรอยกัน

ริชาร์ด ยีด้อน บรรณาธิการเดอะเชอร์เลสตันคูเรียร์ (The Charleston Courier) เชื่อว่ามันเป็นของจริง แต่นักสัตววิทยาสมัครเล่น เรฟ. จอห์น บาชแมน กลับเขียนบทความลงในเดอะเชอร์เลสตันเมอคิวรี (The Charleston Mercury) หนังสือพิมพ์คู่แข่งว่ามันเป็นของปลอมแน่ ๆ ความขัดแย้งของหนังสือพิมพ์สองฉบับ ทำให้อแลนสัน เทย์เลอร์ตัดสินใจรีบส่งซากเงือกกลับนิวยอร์กก่อนจะได้มีการพิสูจน์ในที่สาธารณะ

แต่ก่อนจะเตลิดเปิดเปิงไปไกล ก็มีคนตั้งสติตรวจเช็คข้อมูลแล้วพบว่าประเทศอังกฤษไม่มี สถาบันศึกษาประวัติศาสตร์ธรรมชาติเกาะอังกฤษ!

อ้าว แล้ว ด็อกเตอร์ เจ กริฟฟิน ที่อ้างว่าเป็นสมาชิก สถาบันศึกษาประวัติศาสตร์ธรรมชาติเกาะอังกฤษคนนี้มาจากไหน?

ตรวจสอบจนในที่สุดพบว่า ด็อกเตอร์ เจ กริฟฟิน แท้จริงคือนาย ลีวาย ไลแมน ผู้สมรู้ร่วมคิดกับนายพี บี บาร์นัมสร้างเรื่องเงือกแห่งฟิจิมาเพื่อโฆษณาและหารายได้เข้าพิพิธภัณฑ์ของพี บี บาร์นัมโดยเฉพาะ และพี บี บาร์นัมเป็นคนแอบส่งจดหมายเวียนไปเวียนมาสร้างกระแสเรื่องด็อกเตอร์ เจ กริฟฟินกับซากเงือกแห่งฟิจิไปยังหนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ

หลังจากมีคนตรวจสอบซากเงือกแห่งฟิจิ และพบว่ามันเป็นของปลอม พี บี อ้างว่าเขาซื้อมาจาก โมเสส คิมบอลล์ นักแสดงเร่ในบอสตัน (ซึ่งโมเสส คิมบอลล์อ้างว่าซื้อมาจากชาวประมง)

ความจริง เมื่อพี บี ซื้อซากเงือกจากโมเสสมาแล้ว เขานำซากเงือกแห่งฟิจิไปให้นักสัตว์วิทยาตรวจสอบก็ได้รับคำตอบว่าของปลอมแน่นอน แต่ด้วยความที่เขาเป็นคนมีหัวทางการค้าแยบยล เขาเกิดความคิดว่ามันคงไม่เกี่ยวว่าเป็นของจริงหรือของปลอม ถ้าเขาทำให้ประชาชนเชื่อว่ามันเป็นของจริง มันก็จะเป็นของจริง!

ดังนั้นเขาจึงจ้างนายลีวาย ไลแมน ให้มารับหน้าที่เป็นด็อกเตอร์ เจ กริฟฟิน และสร้างเรื่องราวดังกล่าวขึ้น

ซากเงือกแห่งฟิจิ ตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ของพี บี บาร์นัม ในนิวยอร์กสลับกับพิพิธภัณฑ์ของ โมเสส คิมบอลล์ในบอสตันร่วม ๒๐ ปี เคยนำไปแสดงที่ลอนดอนในปีค.ศ. ๑๘๕๙ แต่หลังจากนำกลับมาในเดือนมิถุนายนและนำไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์ของโมเสส คิมบอลล์ หลังจากนั้นชะตากรรมของซากเงือกนี้เงียบไป บ้างว่าซากนี้มอดไหม้ไปกับเหตุไฟไหม้ที่พิพิธภัณฑ์ของพี บี บาร์นันในปีค.ศ. ๑๘๖๕ บ้างกก็ว่ามอดไหม้ไปกับเหตุไฟไหม้ที่พิพิธภัณฑ์ของโมเสส คิมบอลล์ในช่วง ทศวรรษ ๑๘๘๐

ปัจจุบัน Peabody Museum of Archaeology and Ethnology ของฮาร์วาร์ด ได้แสดงซากเงือกแห่งฟิจิ ซึ่งอ้างว่าได้ครอบครองหลังจากมีคนเก็บรักษาไว้จากเหตุไฟไหม้ที่พิพิธภัณฑ์ของโมเสส คิมบอลล์และผู้รับมรดกนำมามอบให้ทางพิพิธภัณฑ์ แต่จากรูปภาพเปรียบเทียบทำให้แน่ใจว่าน่าจะเป็นคนละตัวกับซากเงือกแห่งฟิจิที่เคยสร้างความฮือฮาในปีค.ศ. ๑๘๔๒

ต้นกำเนิดซากเงือกแห่งฟิจิ

กัปตัน ซามุเอล บาร์เร็ทท์ เอเดส ได้วาดภาพนางเงือกเอาไว้ในปีค.ศ. ๑๘๒๒ จากซากสิ่งมีชีวิตที่เขาครอบครองอยู่ ขนาดว่าขายเรือไปในราคา ๖,๐๐๐ เหรียญสหรัฐฯ (ซึ่งมหาศาลในยุคนั้น) เพื่อซื้อซากสิ่งมีชีวิตนี้

ที่มาของซากเงือกตัวนี้มีสองกระแส

เรื่องเล่าหนึ่งอ้างว่าเขาซื้อจากสตีเฟน เอเลอรี เจ้าของร่วมเรือที่เขาบังคับอยู่ ซึ่งปรากฏในภายหลังว่าซากสิ่งมีชีวิตนั้น สตีเฟน เอเลอรีจ้างวิลเลียม คลิฟต์สร้างขึ้น โดยวิลเลียมใช้หัวลิงอุรังอุตัง เขี้ยวลิงบาบูน ตาเทียม และหางปลา มาทำหลอกเพื่อจะเอาเรือ

อีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า เขาซื้อมาจากชาวดัทช์คนหนึ่งซึ่งอ้างว่าซื้อมาจากชาวประมงญี่ปุ่น

ด้วยความหวังที่ว่าซากเงือกนี้จะทำเงินให้กับเขา ทำให้เขายอมเสี่ยงเพื่อที่จะพบว่าไม่คุ้มค่ากับการเสี่ยงเลยแม้แต่น้อย เพราะนักสัตววิทยาตรวจสอบแล้วก็รู้ว่าเป็นของปลอม ผลก็คือเขาเป็นหนี้มหาศาลเพราะเรือที่เขาขายไปนั้นไม่ใช่ของเขาเพียงคนเดียว ทำให้เขาโดนฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากศาล และใช้เวลาที่เหลือในชีวิตเพื่อหาเงินใช้หนี้ก้อนนั้น

เมื่อเขาเสียชีวิต ซากเงือกจึงตกเป็นของบุตรชายซึ่งได้ขายมันกับโมเสส คิมบอลล์ และโมเสส คิมบอลล์ก็ขายมันต่อให้กับ พี ที่ บาร์นัม

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ตราประทับโซโลมอน (Seal of Solomon)

พันธสัญญาของโซโลมอน (Testament of Solomon)