The Turk: หุ่นยนต์เล่นหมากรุก

ใครจะเชื่อว่าในปี ค.ศ. ๑๗๗๐ มนุษย์จะสามารถประดิษฐ์หุ่นยนต์เล่นหมากรุกได้?

คนสมัยนี้ไม่เชื่อ! แต่คนในปี ค.ศ. ๑๗๗๐ เชื่อ!!!

เดอะเติร์ก (The Turk) คือชื่อของหุ่นยนต์ตัวนั้น

(มีชื่อเรียกว่า Mechanical Turk หรือ Automaton Chess Player)

ในปีค.ศ. ๑๗๗๐ วูล์ฟแกง วอน เคมเพเลน นักประดิษฐ์ชาวฮังการีซึ่งคลุกคลีอยู่ในราชสำนักออสเตีย เห็น ฟรังซัวส์ เพลเลนเทีย เล่นกลลวงตาต่อหน้าพระพักตร์จักรพรรดินี มาเรีย เธเรซา แล้วได้รับพระราชทานรางวัลตอบแทนเป็นจำนวนไม่น้อย ทำให้เขาคิดว่าต้องหาอะไรมาแสดงบ้าง

หลังจากนั้น ๖ เดือน เขานำเสนอเครื่องจักรนักเล่นหมากรุกที่ทำเป็นรูปคนครึ่งตัวขนาดเท่าคนจริง ทำด้วยโลหะทองแดง มีเคราสีดำ ดวงตาสีเทา ใส่ชุดแบบชาวตุรกี และพันศีรษะแบบชาวมุสลิม แถมมือข้างหนึ่งยังถือกล้องยาเส้นแบบตุรกีอีกด้วย ทำให้ต่อมามันได้รับการตั้งชื่อว่าเดอะเติร์ก

เดอะเติร์กติดตรึงกับกล่องขนาดใหญ่กว้าง ๒ ฟุต ยาว ๓ ฟุตครึ่ง สูง ๒ ฟุตครึ่ง บนกล่องด้านหน้าหุ่นเติร์ก จะมีกระดานหมากรุกขนาด ๑๘ นิ้ววางอยู่ ด้านหน้ากล่องจะแบ่งเป็น ๓ ส่วน ที่แสดงให้เห็นชิ้นส่วนกลไกหลายชิ้นกำลังทำงาน เท่าที่คนเห็นจากภายนอกมันทำงานอย่างเป็นระบบและซับซ้อนเกินกว่าพวกเขาจะเข้าใจ

วูล์ฟแกง วอน เคมเพเลน จงใจทำประตูด้านหน้ากล่องให้เปิดได้เพื่อให้คนเห็นระบบการทำงานของเครื่องจักรตัวนี้ ซึ่งถ้าเปิดออกจะเห็นเครื่องกลไก ฟันเฟือง ชิ้นส่วนเครื่องจักรกลทำงาน ซึ่งสามารถมองทะลุผ่านไปให้เห็นถึงด้านหลังว่าไม่มีอะไรอื่นนอกจากชิ้นส่วนเครื่องจักรกล ด้านหน้ายังมีกล่องเล็ก ๆ ที่เขาบอกว่าเป็นตัวควบคุมการทำงานของเครื่องจักรกล ซึ่งทำให้บางคนเชื่อว่ามันเป็นกล่องที่บรรจุพลังเหนือธรรมชาติที่ควบคุมเดอะเติร์กอยู่

วูล์ฟแกง วอน เคมเพเลนจะแจ้งกฎให้ผู้เข้ามาท้าแข่งกับเดอะเติร์กว่า ทางฝ่ายเดอะเติร์กจะใช้ฝ่ายสีขาว และจะเป็นฝ่ายเริ่มเล่นก่อน นอกจากนี้เดอะเติร์กยังสามารถผงกศีรษะ ๒ ครั้งเมื่อตัวควีนกำลังจะโดนรุก และจะผงกศีรษะ ๓ ครั้ง หาตัวคิงกำลังจนมุม และถ้าฝ่ายตรงข้ามเดิมผิดพลาด มันจะส่ายหน้า และจะหยิบตัวนั้นกลับไปและเดินหน้าเล่นต่อทันทีเพื่อเป็นการปรับฝ่ายตรงข้ามที่เดินผิดพลาด เขาจะให้ผู้อยู่ในห้องนั้นได้ตรวจสอบกระดานหมากรุก ตัวหมากรุก เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้เล่นกลอะไรกับหมากรุก

เคานต์ ลุดวิก วอน โคเบนซล์ แห่งราชสำนักออสเตียลองทดสอบแข่งหมากรุกกับเดอะเติร์ก เป็นคนแรก หลังจากนั้นก็มีหลายคนลอง ซึ่งทั้งหมดพ่ายแพ้ภายในเวลาไม่ถึง ๓๐ นาที นอกจากนี้เจ้าเดอะเติร์กยังสามารถแก้ปริศนา Knight’s Tour ได้ด้วย (คือการให้ตัวอัศวินเดินบนกระดานหมากรุกโดยจะต้องเดินไปให้ครบทุกช่องในกระดานให้ได้) ซึ่ง ณ เวลานั้น นักหมากรุกโดยทั่วไปไม่สามารถแก้ปริศนานี้ได้

ยิ่งไปกว่านั้น มันยังสนทนาตอบโต้กับคนได้ ผ่านทางการเลือกตัวอักษรบนกระดานตัวอักษร!!! มีบันทึก Über den Schachspieler des Herrn von Kempelen und dessen Nachbildung (แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า On the Chessplayer of Mr. von Kempelen And Its Replica) ในปีค.ศ. ๑๗๘๙ ของ คาร์ล ฟริดดิก ฮินเดนเบิร์ก อาจารย์สอนคณิตศาสตร์ในมหาวิทยาลัย บันทึกการสนทนาระหว่างเขากับ เดอะเติร์กไว้เกี่ยวกับเรื่องทั่วไป อายุ กลไก และอื่น ๆ

หลังจากนั้น ชื่อเสียงของเดอะเติร์กก็ขจรไกลทั่วยุโรป วูลฟ์แกงไม่ค่อยนำมันออกแสดงนักโดยให้เหตุผลในเรื่องการบำรุงรักษาซ่อมแซมที่ยุ่งยาก ร่วมถึงการตั้งค่าเครื่องจักรเพื่อรับมือกับผู้ท้าแข่งที่จะมีความสามารถเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และนอกจากนี้เขายังต้องการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องมืออื่นอย่างเช่นเครื่องจักรไอน้ำและเครื่องถ่ายทอดเสียงมนุษย์ (ลำโพงนั่นเอง)

ความสามารถล้นเหลือขนาดนี้ทำให้ผู้คนตื่นตะลึงกับความล้ำหน้าทางสติปัญญา นักประดิษฐ์หลายคนพยายามที่จะสร้างเครื่องจักรที่มีความสามารถคล้ายกันออกมา แต่ก็ล้มเหลว

วอน วินดิสช์ เชียนบันทึกไว้ว่า “เขาปฏิเสธคำขอร้องจากเพื่อน และจากคนที่สนใจใคร่รู้จากทั่วประเทศที่อยากจะเห็นเครื่องจักรมหัศจรรย์นี้” และในช่วงทศวรรษหลังจากเปิดตัวเดอะเติร์กในพระราชวังชอนบรูน เดอะเติร์กมีโอกาสรับคำท้าของ เซอร์ โรเบิร์ต เมอเรย์ คีธ ขุนนางชาวสก็อตต์เพียงคนเดียวเท่านั้น ในปีค.ศ. ๑๗๘๑ เขาได้รับคำสั่งจากจักรพรรดิ โจเซฟที่ ๒ เพื่อให้รื้อฟื้นเดอะเติร์กและนำมันให้ทอดพระเนตรที่กรุงเวียนนาเพื่อต้อนรับแกรนด์ดยุค พอล แห่งรัสเซียและภรรยา ซึ่งเป็นที่ประทับใจคนที่ได้ชมในครั้งนั้นมาก ท่านแกรนด์ดยุค พอล เอ่ยปากขอให้นำมันไปแสดงในที่ต่าง ๆ ในยุโรป ซึ่งเป็นคำขอเชิงบังคับถึงวูล์ฟแกงไม่อยากรับข้อเสนอนั้น แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้

การนำเดอะเติร์กไปแสดงทั่วยุโรป เริ่มขึ้นที่ฝรั่งเศสในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๘๓ และได้พบกับนักเล่นหมากรุกชั้นนำหลายคน ทำให้ต้องพ่ายแพ้หลายครั้ง และผู้ท้าแข่งคนสุดท้ายในปารีส คือ เบนจามิน แฟรงคลิน ทูตสหรัฐอเมริกาประจำฝรั่งเศส ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับเบนจามิน แฟรงคลินมากจนทำให้เขากลายเป็นคนสนใจพวกเครื่องจักรกลนับแต่นั้นมา

หลังจากปารีส ก็ไปที่ลอนดอน ฟิลลิป ธิคเนสส์นักเขียนและกัปตันในกองทัพสหราชอาณาจักรได้เขียนหนังสือประกาศว่า หลังจากได้ลองตรวจสอบเครื่องจักรภายในแล้ว ถึงเขาจะนับถือวูล์ฟแกง เคมเพเลนในฐานะนักประดิษฐ์ฝีมือดี แต่เขาคิดว่าเดอะเติร์ก เป็นเรื่องโกหกโดยแอบนำเด็กไว้ตู้เพื่อบังคับหุ่น เพราะหลังจากเขาตรวจสอบแล้วพบว่ามันมีแต่พวกฟันเฟืองกลไกที่ดูซับซ้อนก็เพื่อลวงตาคนดูให้เข้าใจผิดคิดว่ามันทำงานได้จริง

แต่ ณ เวลานั้น กระแสคลั่งไคล้เดอะเติร์กยังมีมหาศาล ได้เดินทางไปในหลายที่ในยุโรป กษัตริย์เฟรดเดอริคมหาราช แห่งปรัซเซียเสนอเงินจำนวนมหาศาลให้กับวูล์ฟแกง วอน เคมเพเลน เพื่อแลกกับความลับในการสร้างเดอะเติร์ก

วูล์ฟแกง วอน เคมเพเลน เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๐๔ ขณะมีอายุ ๗๐ ปี และดูเหมือนว่าความลับในการสร้างเครื่องจักรกลมหัศจรรย์จะตายไปกับเขาด้วย

ลูกชายของวูล์ฟแกง วอน เคมเพเลน ขายเดอะเติร์กให้กับโจฮันน์ เนโปมัค มาลเซล นักดนตรีชาวบาวาเรียที่สนใจเครื่องจักรกล (เขาคนนี้เป็นผู้จดสิทธิบัตรเมโทรนอม) ซึ่งใช้เวลาไม่นานก็ศึกษาการทำงานของเดอะเติร์กและนำมันออกแสดงอยู่บ้างประปราย อย่างในปีค.ศ. ๑๘๐๙ จักรพรรดินโปเลียนแห่งฝรั่งเศส เดินทางมาพระราชวังชอนบรูน ก็ได้นำไปแสดงประสิทธิภาพด้วย แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นมีการบันทึกที่ขัดแย้งกันเองจากข้อมูลหลายแหล่ง

ช่วงปีค.ศ. ๑๘๑๘ –  ๑๘๑๙ โจฮันน์ เนโปมัค มาลเซลนำเดอะเติร์กไปแสดงในฝรั่งเศส และโรเบิร์ต วิลลิส ชาวลอนดอน ได้เขียนบทความชื่อ An Attempt to Analyse the Automaton Chess Player (London, ๑๘๒๑) ได้เปิดโปงความลับในการสร้างเดอะเติร์กโดนเก็บงำไว้เป็นเวลานานว่าที่จริงแล้วมันเป็นหุ่นบังคับโดยคนนี่เอง ไม่ใช่เครื่องจักรที่คิดได้เอง แต่โจฮันน์ก็ไม่ยอมรับ เดอะเติร์กยังไปแสดงในอังกฤษช่วงปีค.ศ. ๑๘๒๖ – ๑๘๒๘ กลับไปยุโรปในช่วงปีค.ศ. ๑๘๒๙ และกลับมาสหรัฐอเมริการอีกครั้ง ก็ได้เดินทางไปนิวยอร์กซิตี้  บอสตัน  ฟิลาเดเฟีย บัลติมอร์ และที่บัลติมอร์นี้เองมีคนประดิษฐ์ The Walker Chess-player ขึ้นมาได้เหมือนกัน เอ็ดการ์ อลัน โป เขียนบทความ Maelzel's Chess Player ลงใน the Southern Literary Messenger เดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๓๖

โจฮันน์ เนโปมัค มาลเซลออกเดินทางไปคิวบา และเสียชีวิตจากไข้เหลืองบนเรือกลางทะเลในปี ค.ศ. ๑๘๓๘ ทำให้เดอะเติร์กตกอยู่ในการครอบครองของ จอห์น โอห์ล ซึ่งต่อมาขายมันให้กับด็อกเตอร์ จอห์น เคลียสลีย์ มิทเชล จากฟิลาเดเฟีย แพทย์ประจำตัวของ เอ็ดการ์ อัลเลน โป เขาได้พยายามซ่อมแซมให้มันใช้งานได้ในปี ๑๘๔๐   และต่อมาได้บริจาคมันให้กับพิพิธภันธ์ของ ชาร์ล วิลสัน พีล และมันได้อยู่ที่นั่นจนเกิดเหตุเพลิงไหม้ในวันที่ ๕ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๕๔

จอห์น กวกฮาน นักประดิษฐ์สิ่งของสำหรับนักมายากลในลอสแอนเจลิสได้จ่ายเงินราว ๑๒๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐฯ เพื่อจำลองแบบเดอะเติร์กขึ้นมาในปีค.ศ. ๑๙๘๔  โดยใช้เวลาถึง ๔ ปี โดยมีบางส่วนเช่นกระดานหมากรุกเป็นของเดิมที่หลงเหลือจากเหตุไฟไหม้ และนำมันไปแสดงครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๙ ซึ่งทำงานทุกอย่างได้เหมือนที่เคยทำ ยกเว้นว่าคราวนี้เดอะเติร์กทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์

ด็อกเตอร์ ซิลาส มิทเชลล์ บุตรชายของ จอห์น เคลียสลี่ย์ มิทเชลล์ เจ้าของเดอะเติร์กคนสุดท้ายก่อนบริจาคให้กับพิพิธภัณฑ์เป็นคนออกมาเปิดเผยถึงกลไกการทำงานของเดอะเติร์กว่าเป็นเพียงเครื่องจักรลวงโลก มีนักหมากรุกชั้นเซียนซ่อนตัวและคอยบังคับเดอะเติร์กอยู่

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ตราประทับโซโลมอน (Seal of Solomon)

ตราประทับแห่งบาโฟเมต (Sigil of Baphomet)